โครงการ “เจริญธรรม เจริญดี”
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยแห่งการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อ “เด็ก เยาวชน และชุมชน”
กลไกการขับเคลื่อนเครือข่ายการจัดการศึกษาของภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนชุมชนสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย
โดย ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม และชุมชนเจริญธรรม
เจริญธรรม เจริญดี : การสร้างพื้นที่ปลอดภัยแห่งการเรียนรู้
“การเรียนรู้ต้องการพื้นที่ปลอดภัย” สำหรับให้ผู้เรียนสามารถเปิดเผยตัวได้ เป็นพื้นที่ที่ให้เสรีภาพทางความคิด ให้ผู้เรียนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกันได้โดยปราศจากซึ่งความหวาดกลัวใด ๆ เป็นพื้นที่ที่ผู้เรียนจะบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้แบบที่ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าสิ่งที่ทำมานั้นจะถูกหรือผิด จะถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า หรือไม่มีความหมาย หรือเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งไร้ความหมายเหล่านี้ คงไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ใดเลย แต่ถ้าหากเป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะมาเติมเต็มกันและกัน ปลอบโยน ให้กำลังใจ ช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ ช่วยกันทำ ช่วยกันหาจิ๊กซอว์ตัวที่หายไปและช่วยกันต่อเรื่องราวของกันและกัน นี่คือเป้าหมายแรกและเป็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างกลไกการเรียนรู้ที่มีความหมายและมีพลังต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
แน่นอนว่าพื้นที่ปลอดภัยคงไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในโรงเรียนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การมีพื้นที่ปลอดภัยที่หลากหลายทั้งในแง่จำนวนหรือลักษณะของพื้นที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้มากขึ้น การสนับสนุนให้มีพื้นที่ปลอดภัยของการเรียนรู้ในชุมชน (Safe Zone of Community) ทุกแห่ง จะเป็นหลักประกันว่าเด็กในชุมชนจะมีทั้งที่เล่น (Play) และที่เรียนรู้ (Learn) ไปพร้อมกัน กรณีศึกษาที่ทางโครงการจัดการเรียนรู้นอกระบบเพื่อพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นและเห็นคุณค่าในตนของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินการ คือการได้มีโอกาสชวนน้องเยาวชนซึ่งเป็นเด็กนอกระบบการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชนเจริญธรรม ภายใต้เบื้องหลังแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กในชุมชนได้มีพื้นที่เล่นและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ท่ามกลางบริบทของชุมชนแออัดในเมืองที่ต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติด ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนที่เด็กเยาวชนพบเห็นเป็นประจำ ซึ่งเป็นความเรื้อรังที่เป็นโจทย์ของคนทำงานในชุมชนใช้เวลามากกว่า
20-30 ปี ในการจัดการกับปัญหาที่ไร้หนทางจะสำเร็จ
ดร.สัจจา ฝ่ายคำตา ศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์
บรรยากาศการเรียนรู้ของน้อง ๆ เด็กจิ๋วในชุมชนเจริญธรรม
ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ชวนน้องเยาวชนในโครงการร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “เจริญธรรม เจริญดี” โดยมี เป้าหมายสำคัญ คือการใช้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สร้างการเรียนรู้ให้ “น้องเด็กจิ๋ว” ในชุมชนผ่านการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community Based Learning) กิจกรรมที่จะออกแบบมาจึงอยู่ในลักษณะการชวนกันทำแผนที่ชุมชน กิจกรรมร่วมเรียนรู้ กิจกรรมร่วมสร้างสรรค์ การทำผังเครือญาติ ผังสุขภาพชุมชน ศิลปะบนเรื่องราวของชุมชน ฯลฯ เพราะไม่เพียงแต่น้องเยาวชนในศูนย์การเรียนเท่านั้นที่ร่วมสร้างการเรียนรู้ แต่ยังได้พลังเสริมจากชุมชน ร่วมออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ด้วย เช่น ชวนเด็กจิ๋วไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ชวนกันสำรวจลูกน้ำยุงลาย กวาดขยะในชุมชน ฯลฯ
“ป้าเร” ครูชุมชน ได้เล่าว่า สิ่งที่ทำคือการเติมเต็มให้เด็กทุกคนได้รู้จักทำงานเพื่อคนอื่นตั้งแต่ยังเป็น “เด็กจิ๋ว” ขณะเดียวกันก็มีเวลาและพื้นที่ให้เด็กได้สนุกสนาน มีพื้นที่ให้ได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่น้องเด็กจิ๋วจะได้สนุกสนาน แต่กิจกรรมทุกกิจกรรมล้วนซ่อนพลังเพื่อการสร้างพลเมืองที่จะเติบโตในอนาคต สำหรับศูนย์การเรียนเองซึ่งมีหลักสูตรรองรับก็เตรียมพร้อมสำหรับการรองรับการเทียบโอนของเด็กเยาวชน ผ่านการทำกิจกรรม ซึ่งร่องรอยการเรียนรู้ของน้องเยาวชนจะถูกสะสมไว้สำหรับการเทียบโอนเข้าสู่หลักสูตรของศูนย์การเรียนเพื่อสะสมในธนาคารหน่วยกิตเพื่อขอสำเร็จการศึกษาเมื่อพร้อม ที่สำคัญนักเรียนในโครงการ ซึ่งเคยเป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษามาก่อน ได้มีโอกาสใช้พื้นที่ปลอดภัยนี้เปลี่ยนบทบาทตนเองจากนักเรียนกลายมาเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ให้กับน้องเยาวชน แม้ว่าในอดีตโรงเรียนอาจมองน้องเยาวชนกลุ่มนี้ว่าเป็นเด็กเหลือขอในโรงเรียน เป็นเด็กตกเส้น ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง และถูกผลักให้หลุดออกจากระบบการศึกษา แต่โอกาสที่สำคัญนี้กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญในการเติมพลังให้กับน้องเยาวชนในศูนย์การเรียนอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ทำได้แต่ทำได้ดี ทำจากใจ ทำจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งนี้ช่วยยืนยันว่าเด็กแต่ละคนชื่นชอบการเรียนรู้ต่างกัน มีลีลาการเรียนรู้ต่างกัน และเมื่อนักเรียนตามหาความชอบของตนเองพบ พวกเขาก็สามารถใช้ความรู้และศักยภาพที่พวกเขามีส่งต่อให้กับน้องเด็กจิ๋วในชุมชนได้บนพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยได้
(ซ้าย) ครูทิพย์-ประทีป ปราสาร (ขวา) ป้าเร-เรวดี กล่ำศิริ
น้อง ๆ เด็กจิ๋วในชุมชน และนักเรียนในศูนย์การเรียนทำกิจกรรม “แผนที่ชุมชน” ร่วมกันออกแบบเรื่องราวในชุมชนเจริญธรรม
โครงการเจริญธรรม เจริญดี เป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทางศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ได้ดำเนินการภายใต้โครงการจัดการเรียนรู้นอกระบบเพื่อพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นและการเห็นคุณค่าในตนของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับชุมชนเจริญธรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยใช้การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชนทำให้ชุมชนกลายเป็นห้องเรียนใหม่สำหรับเด็กจิ๋วและเยาวชนในโครงการ ผ่านกลไกการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กจิ๋วในชุมชน เริ่มเรียนรู้ผ่านเทคนิคการเรียนรู้ (SFCC) คือ การรู้จักตนเอง (Self) รู้จักครอบครัว (Family) รู้จักชุมชน (Community) รู้จักการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Chance) โดยใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยมุ่งไปสู่เป้าหมาย ดังนี้
-
-
- มีหน่วยจัดการเรียนรู้ชุมชนเจริญธรรม ซึ่งขับเคลื่อนโดยศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ร่วมกับชุมชนเจริญธรรม เป็นหน่วยขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ อำนวยการเรียนรู้ และหนุนเสริมศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของชุมชนในมิติการศึกษา เมื่อเด็กเยาวชนสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาตามระดับการเรียนรู้ที่เปิดสอนในศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม
- มีครูชุมชน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการสร้างการเรียนรู้ในของชุมชนและมีน้องเยาวชนในศูนย์การเรียนเป็นกลไกเสริมพลังในการขับเคลื่อน โดยนำองค์ความรู้ของตนเองประกอบกับทักษะทางวิชาการหรือทักษะอาชีพที่มี เช่น ทำขนม งานประดิษฐ์ ขับร้อง ทำความสะอาด การดูแลสุขภาวะ การทำอาหาร งานศิลปะ ประสบการณ์ เล่าเรื่อง ฯลฯ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนในชุมชนและผู้ที่สนใจ
- มีพื้นที่สำหรับการสร้างการเรียนรู้ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนจะเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน มีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน รวมทั้งบ้านที่มีความพร้อมในชุมชนถูกใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กมีมุมหน้าบ้านที่เปิดเป็นสาธารณะให้เด็ก ได้เล่น มีความปลอดภัย ปลอดเหล้า บุหรี่ และสารเสพติด
- มีระบบธนาคารหน่วยกิต มีการสะสมความสำเร็จของการเรียนรู้เพื่อเทียบโอนเข้าสู่รายวิชาของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม สำหรับการเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิต เมื่อสะสมจนครบตามหลักสูตรแล้ว สามารถใช้การเทียบโอนเพื่อขอสำเร็จการศึกษาได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าเด็กจิ๋วในชุมชนจะได้ศึกษาในรายวิชาที่สนใจตามหลักสูตรที่ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม โดยพร้อมกับพี่ ๆ เยาวชนในโครงการเปิดให้เข้าไปเรียนรู้ผ่านระบบ LISLC D-Learning หรือระบบการจัดการศึกษาเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม โดยกำหนดว่ารายวิชาที่ถูกสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตจะถูกนำมาใช้เมื่อเด็กได้ก้าวออกจากระบบการศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ต้องการนำไปเทียบโอนในสถานศึกษาอื่น หรือต้องการเข้าศึกษาในรูปแบบการศึกษาทางเลือก
-
กิจกรรมสร้างสรรค์เปิดโลกการเรียนรู้ เจริญธรรม เจริญดี
ชุมชนเจริญธรรม ภายใต้แนวคิดเจริญธรรม เจริญดี ถือเป็นห้องเรียนที่สำคัญสำหรับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาในโครงการ ความสำเร็จระยะแรกของการทำงานกับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาคือการมีพื้นที่ให้กับน้องได้ใช้ความสามารถที่มีในทางสร้างสรรค์ เพราะการเติมเต็มให้กับน้อง เยาวชนไม่เพียงแค่สร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ให้เกิดขึ้นในตัวน้องเยาวชนแล้วจบไป แต่โจทย์ในการทำงานของศูนย์การเรียนคือการจะชวนน้อง ๆ ใช้พลังของตนเองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงตนเองและชุมชนได้อย่างไร แน่นอนว่าทางโครงการโชคดีที่หาพื้นที่ให้น้องเยาวชนได้ “ปล่อยแสง” สำหรับโครงการเองก็เฝ้ามองการเติบโตของน้องเยาวชน ทิศทางการเติบโต และเส้นทางที่พวกเขาเลือกอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาได้มีโอกาสทำอะไรเพื่อคนอื่น บนศักยภาพและความแตกต่างกันของน้องเยาวชนแต่ละคน