“นวัตกรรมแผนที่โอกาสการเรียนรู้”
การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อการค้นหาและเข้าถึงผู้เรียน

โดย  ครูสายลม (LOM), ภาคีเครือข่ายในพื้นที่, ชุมชนเจริญธรรม, บ้านคุ้งตะเภา บ้านบุ่งวังงิ้ว
กลไกการทำงานกับภาคประชาสังคม

DSC00125

นวัตกรรมแผนที่โอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunity Map)

การเข้าถึงเยาวชนนอกระบบการศึกษา นับเป็นความท้าทายและเป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดที่ศูนย์การเรียนและคนทำงานต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แม้ว่าการทำงานกับน้อง ๆ เยาวชนนอกระบบการศึกษา จะขับเคลื่อนบนฐานของข้อมูล (Data) ที่มีอยู่ในมือจำนวนหนึ่งก็ตาม แต่สำหรับการทำงานจริงในภาคสนามก็อาจพบว่าเป็นงาน “หิน” เพราะข้อมูลที่มีอยู่ในมือกลับไม่ได้ช่วยให้การเข้าถึงน้อง ๆ ทำได้ง่ายอย่างที่คิด

อาจกล่าวได้ว่าในการทำงานจริงในพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยชุดความรู้และกลไกการเข้าถึงน้อง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าข้อมูลที่มีอยู่ เพราะหลายครั้งในการค้นหาน้อง ๆ คนทำงานอาจต้องพบกับข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดที่เกิดจากตัวน้องเยาวชนเอง เช่น ความไว้วางใจ ความระแวงระวัง ความไม่เชื่อมั่นของผู้ปกครองที่มีต่อคนทำงาน หรือการเป็นคนหน้าใหม่ที่มาในการทำงานพื้นที่ รวมถึงบริบทของชุมชนเองก็มีส่วนสำคัญที่เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขและอุปสรรคในการค้นหาและเข้าถึงน้องเยาวชน ขณะเดียวกันข้อจำกัดของคนทำงานเองก็ส่งผลต่อการเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นใจในการทำงาน ภาพจำของน้องเยาวชนในหัวคิด ความหวาดกลัว มายาคติที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งความไม่เชี่ยวชาญพอสำหรับการเข้าถึงน้องเยาวชน ปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่ทำให้การเข้าถึงน้องเยาวชน ทำได้ยาก นอกจากนั้นการถูกประทับตราจากสังคมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องเยาวชนหลายคน พยายามหลบซ่อน ขณะที่น้อง ๆ บางส่วนเข้าถึงได้ยาก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้ง 40 หน่วยในช่วงแรกของโครงการ ทีมหนุนเสริมชวนให้คิดตามว่า “บางครั้งการทำงานกับน้องเยาวชน กลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราเจอเขาแล้ว เราก็อาจไม่รู้จักเขาก็ได้” นั่นจึงเป็นความยากที่คนทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะ “คนนอก” อย่างศูนย์การเรียน จะสามารถค้นหาและเข้าถึงน้องกลุ่มนี้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมอย่างแผนที่โอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunity Map หรือ LOM) จึงเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษากลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น ผ่านตัวกลไกของระบบที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่

ชวนทำความรู้จักนวัตกรรม “แผนที่โอกาสการเรียนรู้”

แผนที่โอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunity Map หรือ LOM)  ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะออกแบบให้เป็นแผนภาพ หรือ แผนที่(Map) ที่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่เป็นนวัตกรรม (Innovation) ในรูปเครือข่ายการทำงานร่วมกันของภาคีในพื้นที่ และเครือข่ายของภาคี ซึ่งอาจรวมถึงผู้ปกครองของน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา และตัวน้องเยาวชนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย กลไกการทำงานของระบบสายลม (LOM) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการระบุข้อมูลสำคัญในการค้นหาและเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา การออกแบบนวัตกรรมระบบ “ลม” นี้ ศูนย์การเรียนเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจร่วมกันของภาคีเครือข่ายและคนทำงานอย่างยืดหยุ่นเข้าถึงง่ายเหมือนสายลมที่พัดความเย็นสบายเข้าถึงเป้าหมายสำคัญในการค้นหาและเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา และที่สำคัญ คือ การสร้างความมั่นใจต่อสิ่งที่ทั้งศูนย์การเรียน ภาคีเครือข่าย และคนทำงานกำลังจะทำร่วมกันว่ามีความหมายต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านข้อมูลที่ภาคีจะส่งให้ศูนย์การเรียน และจะนำเข้าไว้บนระบบลม (LOM) ข้อมูลทั้งหมดจะถูกใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการค้นหา เข้าถึง และชวนน้องเยาวชนให้กลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง นอกจากนั้นศูนย์การเรียนยืนยันว่าการทำงานขับเคลื่อนครั้งนี้ที่ไม่ใช่แค่การมา “ปักป้ายถ่ายรูป” เหมือนที่ภาคีเครือข่ายหลายคนเคยเจอ แต่คือการทำงานจริงที่จะเห็นเป็นรูปธรรมในอนาคต และกลไกการทำงานที่ขับเคลื่อนอยู่จะกลายเป็นข้อมูลที่ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาอีกครั้ง ที่สำคัญบทบาทการทำงานครั้งนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับภาคีในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนที่ไม่ใช่แค่คนที่ช่วยในการค้นหาน้องเยาวชน แต่ คือ ภาคีเครือข่ายผูกพันที่จะทำงานร่วมกันในระยะยาว ติดตามความสำเร็จ และเป็นกลไกที่สำคัญของชุมชน ยึดโยงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาจนตลอดรอดฝั่งกระทั่งสำเร็จการศึกษาตามเป้าหมาย

 

 

 

 

ภาพ ระบบ LOM หรือ แผนที่โอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunity Map) ของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม

          ทำไม “แผนที่โอกาสการเรียนรู้” จึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่
ศูนย์การเรียนเชื่อว่าจะช่วยค้นหาและเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้สำเร็จ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า แผนที่ซึ่งสร้างจากผู้คนเครือข่าย นอกจากจะช่วยให้เห็นข้อมูลที่เป็นจริงและแม่นยำแล้ว ยังทำให้เห็นข้อมูลการกระจุกและกระจายตัวของน้องเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ศูนย์การเรียนทำงาน และถ้าหากยิ่งมีการเพิ่มเติมข้อมูลเชิงลึกในแผนที่ได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เห็นสถานการณ์ของน้อง เยาวชนนอกระบบการศึกษาว่าน่ากังวลมาก หรือน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันก็จะนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้บนโจทย์ของข้อมูลที่มีเพื่อชวนน้องเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

ในทางกลับกันถ้าการขับเคลื่อนการทำงานและการสร้างแผนที่โอกาสการเรียนรู้ ไม่ได้รับความร่วมมือของพี่น้องภาคีเครือข่ายในพื้นที่และคนทำงาน ก็ยิ่งทำให้การทำงานกับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาทำได้ยากขึ้นและมีอุปสรรคมาก เนื่องจากศูนย์การเรียนเข้าใจดีว่าการไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คือข้อจำกัดหนึ่งที่สำคัญในการทำงาน การไปนั่งถามข้อมูลของน้องเยาวชน
นอกระบบการศึกษาจากบ้านทีละหลังในชุมชน บางครั้งอาจไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย และหากโชคดีอาจได้ข้อมูลบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็เป็นข้อมูลที่ได้มาก็อาจเปล่าประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้ยึดโยงกับผู้คน สุดท้ายข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นเพียงแค่ข้อมูล (Data) บนแผนที่ที่เปล่าประโยชน์

สำคัญที่สุดความสำคัญของ Learning Opportunity Map จะช่วยให้การทำงานของศูนย์การเรียนในฐานะ “คนนอก” ซึ่งเป็นคนทำงานขับเคลื่อนการเรียนรู้หน้าใหม่ในพื้นที่[1] ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น เนื่องจากการจะอธิบายว่าศูนย์การเรียนเป็นใครโดยที่ไม่มีคนช่วยอธิบาย อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะแม้แต่ในระยะแรก ๆ ทั้งภาคีเครือข่าย หรือกระทั่งหน่วยงานของรัฐ หรือนักการศึกษาในพื้นที่ส่วนใหญ่ ก็ยังคงตั้งคำถามว่า “ศูนย์การเรียน คืออะไร ?” ดังนั้นไม่ต้องถามว่าในระดับชุมชน ชุมชนก็อาจเกิดความกังวลว่าศูนย์การเรียนจะมาหลอกลูกหลานของพวกเขาหรือเปล่า ? ที่สำคัญคือทั้งน้องเยาวชน และผู้ปกครองก็ยังคงกังวลว่าการเรียนในศูนย์การเรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาแท้จริงหรือไม่ ซึ่งความเข้าใจและการรับรู้ไม่ชัดเจนเหล่านี้ก็เพิ่มความยากในการทำงานกับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ด้วย

การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นของศูนย์การเรียนและพี่น้องภาคีเครือข่ายในพื้นที่เกิดเป็นเครือข่าย “แผนที่โอกาสการเรียนรู้” ที่ช่วยศูนย์การเรียนในการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย ครูทิพย์
ครูประทีป  ปราสาร
ภาคีเครือข่ายที่ผูกพันชุมชนในพื้นที่ป่าเซ่า ที่มีข้อมูล

ของน้องเยาวชนซึ่งเคยเป็นทั้งลูกศิษย์ในโรงเรียนที่ครูทิพย์ทำงาน รวมทั้งลูกหลานเด็ก ๆ ในชุมชนบุ่งวังงิ้ว ชุมชนใกล้เคียง และเครือข่ายนอกชุมชน นอกจากนั้นในพื้นที่ตำบลท่าอิฐยังได้ป้าเร – เรวดี กล่ำศิริ รองประธานชุมชนเจริญธรรม ที่ทำงานหลายหน้าที่ สวมหมวกหลายใบทั้ง อพม. อสม. ในเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ที่มาพร้อมกับเครือข่ายคนทำงานทั้งชุมชน 28 ชุมชน ในการสร้างเครือข่าย Learning opportunity map ในการเชื่อมโยงน้องเยาวชน
ในพื้นที่หลาย ๆ ชุมชน และการเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา ขณะที่พื้นที่ตำบลคุ้งตะเภา ก็ได้เครือข่ายที่สำคัญอย่าง สารวัตรกำนันเจน – เจลวี วงสิน สารวัตรกำนันตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความเข้าใจน้องเยาวชนในฐานะที่เคยเป็นคนทำงานร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นมาหลายปี ก่อนที่จะผันตัวมาทำงานฝ่ายปกครอง  และได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกในครั้งนี้

ศูนย์การเรียนและพี่น้องภาคีได้สร้างแผนที่โอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunity Map : LOM) จากการเชื่อมร้อยกันระหว่างข้อมูลของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผู้ปกครอง น้องเยาวชนในศูนย์การเรียน เครือข่ายการศึกษาทั้งภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และภาคประชาสังคม และพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มบนออนไลน์เพื่อเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศสำหรับการเข้าถึงน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงได้ง่าย เห็นข้อมูลได้ชัดเจน และภาคีเครือข่ายเองก็สามารถเพิ่มเติมข้อมูลได้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการยกระดับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการเรียนรู้และจัดทำข้อมูลน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบนฐานข้อมูลจะประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลด้านการติดต่อและที่อยู่ ข้อมูลการศึกษา และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็น สำหรับใช้ในการเข้าถึงและดึงน้องเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งศูนย์การเรียนหวังว่า “แผนที่โอกาสการเรียนรู้” ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของเครือข่ายคนทำงาน จะเป็นข้อมูลสำคัญและจะได้รับการเติมเต็ม และใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องด้วย

“นวัตกรรมแผนที่โอกาสการเรียนรู้” จะเติบโตอย่างไร ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทางการศึกษาที่ขยายใหญ่ขึ้น หนึ่งในสัญญาณที่ดีของการทำงานขับเคลื่อนการยุติเด็กนอกระบบการศึกษา (Zero dropout) คือการประสานการทำงานขับเคลื่อนร่วมกันของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 ที่จะขับเคลื่อนการสร้างหลักประกันว่าโอกาสทางการเรียนรู้ของเด็กทุกคนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้แก่ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอลับแล อำเภอพิชัย อำเภอตรอน และอำเภอทองแสนขัน จะมีหลังพิง เมื่อน้องเยาวชนกลุ่มนี้ล้มลง
ผ่านกลไกการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากพอ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นทาง และศูนย์การเรียน รวมทั้งการมีเบาะรองรับน้อง ๆ กลุ่มนี้ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยกลไกการทำงานการศึกษาแบบ “โรงเรียนคู่ขนาน” โดยศูนย์การเรียนจะทำหน้าที่เป็นบ้านหลังที่ 3 ให้น้อง ๆ ได้แวะพัก โดยจะพยายามใช้แผนที่โอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunity Map : LOM) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาและเข้าถึงน้องเยาวชนที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้คงอยู่ในระบบต่อไปได้เพื่อรอโอกาสและความพร้อมอีกครั้งที่จะกลับเข้าสู่ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น

[1] ศูนย์การเรียนแม้ว่าเป็นสถานศึกษาตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในพื้นที่แต่ การรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับสถานศึกษารูปแบบนี้มีน้อยมาก

โครงการเจริญธรรม เจริญดี เป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทางศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ได้ดำเนินการภายใต้โครงการจัดการเรียนรู้นอกระบบเพื่อพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นและการเห็นคุณค่าในตนของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับชุมชนเจริญธรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยใช้การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชนทำให้ชุมชนกลายเป็นห้องเรียนใหม่สำหรับเด็กจิ๋วและเยาวชนในโครงการ ผ่านกลไกการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กจิ๋วในชุมชน เริ่มเรียนรู้ผ่านเทคนิคการเรียนรู้ (SFCC) คือ การรู้จักตนเอง (Self) รู้จักครอบครัว (Family) รู้จักชุมชน (Community) รู้จักการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Chance) โดยใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยมุ่งไปสู่เป้าหมาย ดังนี้

      1. มีหน่วยจัดการเรียนรู้ชุมชนเจริญธรรม ซึ่งขับเคลื่อนโดยศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ร่วมกับชุมชนเจริญธรรม เป็นหน่วยขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ อำนวยการเรียนรู้ และหนุนเสริมศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของชุมชนในมิติการศึกษา เมื่อเด็กเยาวชนสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาตามระดับการเรียนรู้ที่เปิดสอนในศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม

         

      2. มีครูชุมชน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการสร้างการเรียนรู้ในของชุมชนและมีน้องเยาวชนในศูนย์การเรียนเป็นกลไกเสริมพลังในการขับเคลื่อน โดยนำองค์ความรู้ของตนเองประกอบกับทักษะทางวิชาการหรือทักษะอาชีพที่มี เช่น ทำขนม งานประดิษฐ์ ขับร้อง ทำความสะอาด การดูแลสุขภาวะ การทำอาหาร งานศิลปะ ประสบการณ์ เล่าเรื่อง ฯลฯ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนในชุมชนและผู้ที่สนใจ

         

      3. มีพื้นที่สำหรับการสร้างการเรียนรู้ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนจะเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน มีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน รวมทั้งบ้านที่มีความพร้อมในชุมชนถูกใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กมีมุมหน้าบ้านที่เปิดเป็นสาธารณะให้เด็ก ได้เล่น มีความปลอดภัย ปลอดเหล้า บุหรี่ และสารเสพติด

         

      4. มีระบบธนาคารหน่วยกิต มีการสะสมความสำเร็จของการเรียนรู้เพื่อเทียบโอนเข้าสู่รายวิชาของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม สำหรับการเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิต เมื่อสะสมจนครบตามหลักสูตรแล้ว สามารถใช้การเทียบโอนเพื่อขอสำเร็จการศึกษาได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าเด็กจิ๋วในชุมชนจะได้ศึกษาในรายวิชาที่สนใจตามหลักสูตรที่ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม โดยพร้อมกับพี่ ๆ เยาวชนในโครงการเปิดให้เข้าไปเรียนรู้ผ่านระบบ LISLC D-Learning หรือระบบการจัดการศึกษาเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม โดยกำหนดว่ารายวิชาที่ถูกสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตจะถูกนำมาใช้เมื่อเด็กได้ก้าวออกจากระบบการศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ต้องการนำไปเทียบโอนในสถานศึกษาอื่น หรือต้องการเข้าศึกษาในรูปแบบการศึกษาทางเลือก

ชุมชนเจริญธรรม ภายใต้แนวคิดเจริญธรรม เจริญดี ถือเป็นห้องเรียนที่สำคัญสำหรับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาในโครงการ ความสำเร็จระยะแรกของการทำงานกับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษาคือการมีพื้นที่ให้กับน้องได้ใช้ความสามารถที่มีในทางสร้างสรรค์ เพราะการเติมเต็มให้กับน้อง เยาวชนไม่เพียงแค่สร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ให้เกิดขึ้นในตัวน้องเยาวชนแล้วจบไป แต่โจทย์ในการทำงานของศูนย์การเรียนคือการจะชวนน้อง ๆ ใช้พลังของตนเองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงตนเองและชุมชนได้อย่างไร แน่นอนว่าทางโครงการโชคดีที่หาพื้นที่ให้น้องเยาวชนได้ “ปล่อยแสง” สำหรับโครงการเองก็เฝ้ามองการเติบโตของน้องเยาวชน ทิศทางการเติบโต และเส้นทางที่พวกเขาเลือกอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาได้มีโอกาสทำอะไรเพื่อคนอื่น บนศักยภาพและความแตกต่างกันของน้องเยาวชนแต่ละค