ชวนทำความรู้จักโปรเจค “โรงเรียน 4 ต.ร.วา”
นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต ของผู้เรียนทุกคน
โดย ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง
ครูใหญ่โรงเรียน 4 ต.ร.วา
เกริ่นนำ : เรื่องราวของ “โรงเรียน 4 ต.ร.วา”
เมื่อพูดถึงการศึกษาทางเลือก หลายท่านอาจคงเคยได้ยินชื่อของ “โรงเรียน 4 ต.ร.วา” มากันบ้างแล้ว สำหรับโรงเรียน 4 ต.ร.วา เป็นชื่อที่ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการ หรือ ชื่อเล่น ของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม สถานศึกษาตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งจัดตั้งตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ในสังกัดของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ถือเป็นศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ลำดับที่ 71 ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาในการเข้าเรียนโรงเรียนปกติ
สำหรับที่มาของ “โรงเรียน 4 ต.ร.วา” แม้ไม่ได้ถูกเรียกมาแต่ต้น แต่มาถูกตั้งขึ้นภายหลัง ตามขนาดของตัวอาคารศูนย์การเรียนที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด มีพื้นที่ใช้สอยเพียง 20 ตารางเมตร มีห้องทำงานขนาด 2 x 3 เมตร 1 ห้อง ห้องประชุมที่จุคนได้ 5-10 คน และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมที่ร้องรับคนได้ประมาณ 15-20 คน และด้วยขนาดกระทัดรัดนี้ทำให้เกิดเป็นชื่อของโรงเรียน 4 ต.ร.วา
ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง ในฐานะครูใหญ่โรงเรียน 4 ต.ร.วา พยายามอธิบายว่า “…ขนาดของพื้นที่ สำหรับบางคนอาจมองว่านี่คือข้อจำกัดในการจะทำโรงเรียนสักแห่ง เพราะโรงเรียนควรมีพื้นที่อย่างน้อยก็ให้เด็ก ๆ มานั่งเรียนได้สบาย ๆ ไม่อึดอัด คับแคบ และควรมีพื้นที่ให้ครูมาทำงานสอนหนังสือ หรืออะไรทำนองนั้น แต่สำหรับที่นี่กลับมองว่าการมีพื้นที่จำกัดกลับเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้คิดว่าจะทำอย่างไร ? ที่ออกแบบการศึกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมาติดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดด้านพื้นที่ไปได้…” ครูติ๊ก ยังกล่าวอีกว่า “…ถ้าเราไปให้ความสำคัญกับข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ตั้งแต่ต้น “โรงเรียน 4 ต.ร.วา” แห่งนี้คงไม่เกิดขึ้น ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เราสร้างโรงเรียนแบบนี้ขึ้นมาได้ เพราะเราเชื่อว่าเราจะลบภาพห้องเรียนแบบเดิมออกไปจากหัว
เราไม่อยากทำ “ศูนย์การเรียนให้เรียนโรงเรียน” นี้คือโจทย์
ทำไม ? ผมต้องสร้างโรงเรียนขึ้นมาอีก 1 แห่ง ด้วยเล่าในเมื่อโรงเรียนมีแทบทุกหมู่บ้านอยู่แล้ว ? นี่คือโจทย์ที่ผมคิดเมื่อตัดสินใจจะทำศูนย์การเรียน ผมคิดว่าศูนย์การเรียนที่จะเกิดขึ้นต้องเปลี่ยนโฉมการเรียนรู้ที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งนี้ตั้งขึ้นหลังจากโควิด-19 แน่นอนว่านอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดจากการกระบาดที่นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่นี้ ก็ยังมีคุณูปการบางอย่างที่ทำให้ครูในกรอบอย่างผมได้เห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น คือ “การเรียนออนไลน์” นอกจากการเรียนออนไลน์แล้ว หลายโรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การแจกใบงาน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การมาพบเป็นครั้งคราว ฯลฯ ผมคิดว่านี่คือก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ของบ้านเรา แต่แล้วก็ฝันสลาย เพราะหลังจากการระบาดของโควิด-19 เรากลับไม่เชื่อว่าจะมีวิธีการไหนดีเท่ากับการมานั่งเรียนปีละ 200 วัน “…แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น…” ครูติ๊ก กล่าว
ผมคิดว่าเด็ก ๆ ควรมีโอกาสได้เลือกวิธีการเรียนรู้เป็นของตนเอง และนี่คือเบื้องหลังของการสร้างห้องเรียนที่เริ่มปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่าง และเชื่อว่า “ทุกการเรียนรู้เป็นไปได้” เราก็จะสามารถสร้างห้องเรียนที่จะตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคน เรียนได้ทุกที่ เรียนได้ทุกเวลา ที่สำคัญคือผู้เรียนควรมีโอกาสเลือกวิธีการเรียนในแบบที่ตนเองสนใจ หรือแม้กระทั่งการจะเลือกเอาสิ่งที่ทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาเป็นส่วนหนึ่งในการนับรวมเป็นการเรียนรู้ได้อย่างไร ? นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ของการสร้างโรงเรียน 4 ต.ร.วา นี้ขึ้นมา…”
บรรยากาศการเรียนรู้นอกสถานที่ ณ มหาวิทยาลัยบ้านนอก (บ้านจำรุง) จ.ระยอง
เรื่องราวของ “โรงเรียน 4 ต.ร.วา“
“โรงเรียน 4 ต.ร.วา” เป็นชื่อที่ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม สถานศึกษาตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งจัดตั้งตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ศูนย์การเรียนแห่งนี้ถือเป็นศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ลำดับที่ 71 ของประเทศไทย โดยประกาศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์
โรงเรียน 4 ต.ร.วา ถูกนิยามขึ้นตามขนาดของตัวอาคารเรียนที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เนื่องจากมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 4 ตารางวา เท่านั้น ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง ครูใหญ่โรงเรียน 4 ต.ร.วา บอกว่า “…การมีข้อจำกัดสำหรับบางคนอาจมองว่าเป็นข้อจำกัด แต่สำหรับที่นี่มองว่ากลับเป็นโอกาสที่ทำให้ศูนย์การเรียนได้มีโอกาสคิดว่าจะทำอย่างไร ? ที่จะทำให้เราสามารถออกแบบการศึกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยมองข้ามข้อจำกัดด้านพื้นที่ไป…” ครูติ๊ก ยังกล่าวอีกว่า “…ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำให้ผมคิดถ้าเราลบภาพของห้องเรียนแบบเดิมออกให้หมด และสร้างห้องเรียนแบบใหม่ขึ้นมา และเชื่อว่าทุกการเรียนรู้เป็นไปได้ เราก็จะสามารถสร้างห้องเรียนที่จะตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคน เรียนได้ทุกที่ เรียนได้ทุกเวลา ที่สำคัญคือผู้เรียนควรมีโอกาสเลือกวิธีการเรียนในแบบที่ตนเองสนใจ หรือแม้กระทั่งการจะเลือกเอาสิ่งที่ทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาเป็นส่วนหนึ่งในการนับรวมเป็นการเรียนรู้ได้อย่างไร ? นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ของการสร้างโรงเรียน 4 ต.ร.วา นี้ขึ้นมา…”
จุดเริ่มต้น…ก่อตัวเป็นรูปร่าง
“…ผมทำงานเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนขยายโอกาสของรัฐบาล โรงเรียนที่ผมทำงานอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณแค่ 1 กิโลเมตร นักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน ในชุมชนที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด เด็กนักเรียนหลายคนต้องเผชิญกับความพลิกผันของชีวิต หันหลังให้โรงเรียน บางส่วนต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน …” ครูติ๊กเล่ามาถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียน 4 ต.ร.วา “…สำหรับผมมองว่าโรงเรียนแม้เป็นสถานศึกษาของรัฐ แต่ก็มีทั้งความพร้อมและข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้เป็นห่วงโซ่ของระบบโครงสร้างทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและกฎหมายซึ่งทำให้โรงเรียนก็ขยับยากพอดู แน่นอนว่าสำหรับผมแล้วผมไม่ได้มองว่าเฉพาะโรงเรียนเท่านั้นที่มีข้อจำกัด แต่สำหรับนักเรียนเองนักเรียนแต่ละคนก็มีข้อกำกัดเหมือนกัน บางคนมีข้อจำกัดเรื่องความยากจน บางคนพิการ บางคนไร้ครอบครัวต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตนเอง บางคนไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไมเพราะหาความฝันไม่เจอ ฯลฯ เหล่านี้ผมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่ผมมองว่าส่วนหนึ่งมันเป็นปัญหาโครงสร้างโดยเฉพาะความยืดหยุ่นของระบบการศึกษาที่ยากจะแก้ไข…” ครูติ๊ก พยายามอธิบาย
สำหรับจุดพลิกผันที่ทำให้ครูในระบบต้องตัดสินใจมาทำ “ศูนย์การเรียน” ครูติ๊ก เล่าว่า “…ย้อยกลับไป 3-4 ปีที่ผ่านมา วันหนึ่งลูกศิษย์ที่ผมเคยสอนก็กลับมาหาหาผมที่โรงเรียน หลังจากเข้าไปอยู่ในสถานพินิจประมาณเกือบ 1 ปี สิ่งหนึ่งที่เด็กบอกกับผมนอกเหนือจากการสนทนาถึงสารทุกข์สุกดิบคือการ “อยากกลับมาเรียน” ในระหว่างที่รอคำตอบจากโรงเรียน เด็กก็ถูกจับครั้งที่ 2 ผมลืมเหตุการณ์นี้ไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี เศษ ผมได้รับการติดต่อจากสถานพินิจว่าเด็กบอกว่าเมื่อกลับมาอยู่บ้าน “อยากจะกลับมาเรียนที่โรงเรียน” ผมคิดว่าเด็กเองก็คงมีความฝัน และโรงเรียนอาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยเดียวที่ทำให้เขาอยากกลับมา แต่ด้วยข้อกำกัดหลายอย่างทั้งเด็กและโรงเรียนก็ทำให้เด็กไม่ได้เข้ามาเรียน นี่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อรองรับน้อง ๆ กลุ่มนี้ วันนี้เราทำงานร่วมกับสถานพินิจเพื่อรองรับน้อง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมให้มีที่เรียนเพื่อให้มีวุฒิการศึกษาและขยับไปตามความฝันของตัวเองได้…”
“โรงเรียน 4 ต.ร.วา” ที่นี่เราสร้างการเรียนรู้ที่ทุกคนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของ
โรงเรียน 4 ต.ร.วา ที่นี่ไม่ใช่แค่ “โรงเรียน”
โรงเรียน 4 ต.ร.วา นอกจากจะเติมเต็มโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับน้อง ๆ ที่เป็นผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา น้องพิการ แม่วัยรุ่น เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม น้องที่หลุดออกจากระบบการศึกษา น้องที่ถูกผลักออกจากการศึกษากลางคัน หรือแม้กระทั่งน้อง ๆ ที่มีความฝันใหญ่และการเรียนในโรงเรียนก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ให้ได้มีโอกาสเข้ามาปะติดปะต่อความฝันที่นี่แล้ว โรงเรียน 4 ต.ร.วา ยังทำหน้าที่เป็นภาพจำใหม่ของการเรียนรู้ ว่าการเรียนรู้แท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องสี่เหลี่ยม แต่ควรเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกโอกาส
ครูติ๊ก-ครูใหญ่โรงเรียน 4 ต.ร.วา พูดถึงแนวคิดการทำให้ทุกการเรียนรู้ของผู้เรียนมีความหมายว่า “…ผมคิดว่าแนวคิดที่สำคัญซึ่งเป็นเบื้องหลังให้คนทำงานการศึกษาอย่างเราอยากเห็น คือ จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ทุกคนถูกนับรวม เราทุกคนเคยตั้งคำถามกันหรือเปล่าครับว่า ระบบการศึกษาของบ้านเราให้ความสำคัญกับการนับเวลาเรียนมาก เพราะเชื่อว่าการมีเวลาเรียนที่เป็นไปตามเกณฑ์จะช่วยยืนยันว่าทุกคนจะมีความรู้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ในทางกลับกันเวลาเรียนของโรงเรียนกลับเริ่มนับตอน 08.00-16.00 น. (เวลาราชการเท่านั้น) และแน่นอนว่าหลังจากนี้แม้เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง หรือผ่านวิธีใดก็ตาม การเรียนรู้เหล่านี้จะไม่ได้ถูกนับรวม…ผมคิดว่านี่คือหนึ่งในปัญหาของการศึกษาของประเทศนี้…”
การเติมพลังของคนทำงานการศึกษาทางเลือก และพี่น้องภาคีเครือข่าย
โปรเจค “โรงเรียน 4 ต.ร.วา”
งานของโรงเรียน 4 ต.ร.วา ที่ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม กำลังขับเคลื่อนมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2565 เป็นมากกว่าการทำงานกับน้องเยาวชนนอกระบบการศึกษา แต่ยังครอบคลุมถึงการทำงานการศึกษากับชุมชน เช่น โครงการเจริญธรรมเจริญดี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับระหว่างศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม และชุมชนเจริญธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ในชุมชน บนพื้นที่ชุมชนแออัดในเมืองให้มีทั้งพื้นที่เล่นและพื้นที่เรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยความพยายามที่จะพัฒนาอาคารและพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนให้เป็นหน่วยจัดการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ที่ชุมชนจะร่วมเป็นเจ้าของ ไปสู่เป้าหมายระยะที่ 2 คือ การคืนสิทธิส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่โรงเรียน 4 ต.ร.วา อยากเห็น
ครูทิพย์-ประทีป ปราสาร
กัณฐ์-บัณฑิตา มากบำรุง นักเรียนโรงเรียน 4 ต.ร.วา
ก้าวต่อไปของโรงเรียน 4 ต.ร.วา
น่าสนใจกว่านั้น คือ “การทำงานในพื้นที่” กลายเป็นโอกาส ที่ทำให้โรงเรียน 4 ต.ร.วา ได้พบเจอกับคนที่มีใจอยากร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับการทำงานการศึกษาชุมชนให้มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครูติ๊ก กล่าวสรุปตอนท้ายว่า “…แม้ในวันที่เราเริ่มต้นสร้างโรงเรียน 4 ต.ร.วา แห่งนี้ขึ้นมา เราแทบจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำแบบล้มลุกคลุกคลาน แต่วันนี้เราพบกัลยาณมิตรที่จะมาช่วยกันทำงานขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ เราได้รับความอนุเคราะห์จากทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวมทั้งภาคีที่มีส่วนสนับสนุนให้เราสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงาน วันนี้ก้าวที่สำคัญของเรายังคงเป็นการทำงานเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการออกแบบ “นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ที่ทุกคนออกแบบได้”